ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ
สิ่งมีชีวิตหลายชนิดอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มของสิ่งมีชีวิตและมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน ทั้งในลักษณะพึ่งพาอาศัยกันในรูปแบบต่างๆ เช่น การเอื้อประโยชน์ต่อกัน การแก่งแย่งแข่งขันกัน เป็นศัตรูต่อกันและที่สำคัญที่สุด คือเป็นอาหารซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดการถ่ายทอดพลังงานแก่กันในระบบนิเวศ โดยผ่านการกินกันเป็นทอดๆ ตามลำดับเรียกว่า โซ่อาหาร (food chain) โซ่อาหารอาจจะสัมพันธ์กันอย่างสลับซับซ้อนในรูปของสายใยอาหาร (food web)สายใยอาหาร หรือวัฏจักรอาหารนั้นจะบรรยายความสัมพันธ์แบบการกินกันในชุมชนนิเวศวิทยา นักนิเวศวิทยาสามารถรวบรวมรูปแบบชีวิตทุกชนิดอย่างกว้างขวางเป็นหนึ่งในสองหมวดหมู่ที่เรียกว่า ระดับหรือลำดับขั้นการกินอาหาร ได้แก่
1) ออโตทรอพ (Autotroph) คือ สิ่งมีชีวิตที่สามารถสร้างอาหารเองได้ โดยทำการผลิตอาหารขึ้นมาจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นแหล่งคาร์บอน และแสงหรือสารอนินทรีย์อื่นๆ เป็นแหล่งพลังงาน สิ่งมีชีวิตประเภทออโตทรอพถูกจัดให้เป็นผู้ผลิตในห่วงโซ่อาหาร
สีเขียวจากต้นเฟิร์นบ่งบอกว่าต้นเฟิร์นมีคลอโรฟิลล์ซึ่งเป็นตัวที่ใช้ในการสังเคราะห์แสง จึงทำให้มันเป็นออโตทรอพ
ภาพประกอบ ต้นเฟิร์น |
2) เฮเทโรทรอพ (Heterotroph) คือ สิ่งมีชีวิตที่ต้องการอินทรียสารจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เป็นแหล่งคาร์บอนเพื่อใช้ในการเจริญเติบโตและการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เฮเทโรทรอพ หรือเรียกกันว่าผู้บริโภคในห่วงโซ่อาหาร เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถสร้างอาหารเองได้
สิ่งมีชีวิตจำพวกเฮเทโรทรอพนั้นไม่สามารถสร้างอาหารเองได้ ดังที่กล่าวข้างต้น นั่นคือ ความไม่สามารถในการสังเคราะห์อินทรียสารที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลักจากแหล่งอนินทรียสารในสิ่งแวดล้อมได้ (ดังเช่นการที่สัตว์ไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ต่างจากพืชที่สามารถทำได้) และจึงต้องอาศัยแหล่งอาหารที่มาจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทั้งออโตทรอพ และเฮเทโรทรอพ
โดยสรุปคือ เฮเทโรทรอพคือบรรดาสิ่งมีชีวิตที่สร้างอาหารเองไม่ได้ จึงต้องหาอาหารเอง ไม่ว่าจะเป็นจากการบริโภคสิ่งมีชีวิตอื่น (ซึ่งยังแบ่งได้อีกเป็นสิ่งมีชีวิตกินพืช และสิ่งมีชีวิตกินเนื้อ) หรือจากการดูดสารอาหารจากสิ่งมีชีวิตอื่น (เช่นพยาธิ และพืชกาฝาก ซึ่งถือเป็นสิ่งมีชีวิตจำพวกปรสิต) นั่นเอง
ซึ่งเราสามารถแบ่งอย่างง่ายได้ ดังนี้
ออโตทรอพ (Autotroph)
1.ผู้ผลิต (producer) เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถสร้างอาหารได้ จำพวก
พืชที่มีสารสีในการสังเคราะห์แสง เช่น แพลงตอนพืช
แบคทีเรียบางชนิดที่สังเคราะห์แสงได้ พืชทุกชนิด
สิ่งมีชีวิตเหล่านี้โดยเฉพาะพืชใบเขียว สร้างอาหาร โดยกลไกจากการสังเคราะห์แสง ผลผลิตที่ได้จากกระบวนการสังเคราะห์แสงนี้ คือ คาร์โบไฮเดรต
จะเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานแก่สิ่งมีชีวิตอื่นที่ได้รับเข้าไปในรูปของอาหาร
และก๊าซออกซิเจนจากปฏิกิริยานี้จะเป็นก๊าซที่คายออกทางปากใบของพืชแล้วแพร่ไปในบรรยากาศ
ซึ่งมีประโยชน์ทั้งต่อมนุษย์และระบบนิเวศในหลายกรณี
ภาพประกอบ ต้นแอปเปิ้ล |
เฮเทโรทรอพ (Heterotroph)
ภาพประกอบ ลูกวัว |
1.1 ผู้บริโภคพืช (herbivore) เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย
ภาพประกอบ งู |
1.2 ผู้บริโภคสัตว์ (carnivore) เช่น เสือ สิงโต งู เหยี่ยว
ภาพประกอบ นกหัวขวาน |
1.3 ผู้บริโภคทั้งพืชและสัตว์(Omnivore) เช่น นกบางชนิดที่กินทั้งแมลงและเมล็ดพืชได้แก่ นกหัวขวาน นกกระทาทุ่ง
ภาพประกอบ ไส้เดือน |
1.4 ผู้บริโภคซากพืชซากสัตว์ (scavenger) เช่น ไส้เดือนดิน กิ้งกือ ปลวก นกแร้ง
2. ผู้ย่อยสลาย (decomposer) เป็นสิ่งมีชีวิตที่ดำรงชีวิตและได้พลังงานมาใช้ด้วยการย่อยสลายซากพืชซากสัตว์สารแล้วดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ได้แก่ เห็ด รา และ แบคทีเรียชนิดต่างๆ ซึ่งมีอยู่ทั่วไปทั้งในน้ำ อากาศและ ดิน ผู้ย่อยสลายจะทำให้พืชและสัตว์ที่ตายแล้วเกิดการเน่าเปื่อยสลายเป็นสารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช ดังนั้นถ้าไม่มีผู้ย่อยสลาย พืชและสัตว์ที่ตายแล้วจะไม่มีการเน่าเปื่อย แต่จะทับถมดินก็จะเสื่อมสภาพลงไปเรื่อยๆเพราะไม่มีแร่ธาตุเพิ่มจากเดิม
ภาพประกอบ ขนมปังขึ้นรา |